อารยธรรมโรมัน

 

 

อารยธรรมโรมันกำเนิดบริเวณคาบสมุทรอิตาลี ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทวีปยุโรป มีลักษณะเป็นแหลมยื่นลงไปในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ลักษณะภูมิ ประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาและเนินเขา โดยบริเวณตอนกลางของคาบสมุทรเป็นที่ราบเล็กๆ คือ ที่ราบลาติอุม ทำให้มีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายเป็นชุมชนเล็กๆ ชนชาติที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้เป็นพวกอพยพมาจากบริเวณลุ่มแม่น้ำดานูบ เรียกว่า พวกอิตาลิส (Italis) แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ พวกซาบีนส์(Sabines) พวกแซมไนท์ (Samnites) และพวกลาติน (Latins) พวกลาตินซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวโรมันได้สร้างกรุงโรมริมแม่น้ำไทเบอร์ ซึ่งนับว่าเป็นเมืองที่มี ชัยภูมิ ที่เหมาะสมที่สุด ทำให้กรุงโรมสามารถขยายอำนาจได้เป็นผลสำเร็จได้ในเวลาต่อมาชาวโรมันรับอารยธรรมความเจริญจากกรีกที่อยู่ใกล้เคียงทั้งทางด้านตัวอักษร ศิลปวิทยาการสถาปัตยกรรม และศิลปกรรม นอกจากนี้ชาวโรมันยังได้รับความเจริญจากพวกอีทรัสกัน (Etruscan) ที่อยู่ทางเหนือของแม่น้ำไทเบอร์ทางด้านความเจริญทางศาสนา การก่อสร้าง และสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น มัดหวายที่มีขวานปักอยู่กลางเป็นเครื่องหมายของพวกลิคเตอร์ (Lictors) ที่เป็นทหารรักษาพระองค์ของกษัตริย์ กล่าวได้ว่าอารยธรรมโรมันเป็นอารยธรรมผสมผสานของชาวกรีกกับชาวอีทรัสกันที่เจริญอยู่ใกล้เคียง แล้วพัฒนาเป็นอารยธรรมของตนเอง

มรดกอารยธรรมโรมัน

ด้านการปกครอง อารยธรรมด้านการปกครองเป็นภูมิปัญญาของชาวโรมันที่ได้พัฒนาระบอบการปกครองของตนขึ้นเป็นระบอบสาธารณรัฐและจักรวรรดิ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับจักรวรรดิโรมัน จุดเด่นของการปกครองแบบโรมัน คือการให้พลเมืองมีส่วนร่วมในการบริหารราชการส่วนกลาง และการปกครองโดยใช้หลักกฎหมาย

การปกครองส่วนกลาง พลเมืองโรมันแต่ล่ะกลุ่ม ทั้งชนชั้นสูง สามัญชน และทหาร ต่างมีโอกาสเลือกผู้แทนของตนเข้าไปบริหารประเทศรวม 3 สภา คือ สภาซีเนต (Senate) ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มแพทริเซียน (Patricians) หรือชนชั้นสูง สภากองร้อย (Assembly of Centuries) ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มทหารเหล่าต่างๆ และราษฎร (Assembly of Tribes) ซึ่งเป็นตัวแทนของพวกพลีเบียน (Ple-beians) หรือสามัญชนเผ่าต่างๆ รวม 35 เผ่า แต่ละสภามีหน้าที่และอำนาจแตกต่างกัน รวมทั้งการคัดเลือกเจ้าหน้าที่ไปบริหารงานส่วนต่างๆ แต่โดยรวมแล้วสภาซีเนตมีอำนาจสูงสุด เพราะได้ควบคุมการปกครองทั้งด้านบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ตลอดจนกำหนดนโยบายต่างประเทศด้วย

กฎหมายโรมัน โรมันมีกฎหมายมาตั้งแต่สมัยสาธารณรัฐ ในระยะแรกกฎหมายไม่ได้เขียนเป็นลายลักษณ์ การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามวินิจฉัยของผู้พิพากษาซึ่งเป็นกลุ่มชนชั้นสูง ดังนั้นพวกสามัญชนจึงเรียกร้องให้เขียนกฎหมายเป็นลายลักษณ์ ซึ่งต่อมาได้แกะสลักบนแผ่นไม้รวม 12 แผ่นเรียกว่า กฎหมายสิบสองโต๊ะ (Twelve Tables) ความโดดเด่นของกฎหมายโรมันคือ ความทันสมัย เพราะมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับโครงสร้างการปกครองที่เปลี่ยนเป็นระบอบจักรวรรดิและสภาพแวดล้อมของประชาชนในทุกส่วนของจักรวรรดิ นอกจากนี้ตุลาการชาวโรมันยังมีส่วนทำให้เกิดการยอมรับหลักการพื้นฐานของกฎหมายว่า ประชาชนทุกคนมีความเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย ซึ่งรวมถึงกระบวนการยุติธรรมที่ยึดเป็นแบบอย่างปฏิบัติต่อมาถึงปัจจุบันคือ ให้สันนิษฐานว่าผู้ต้องหาทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน จนกว่าจะมีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่ามีการกระทำความผิด

กฎหมายโรมันเป็นมรดกทางอารยธรรมที่สำคัญ เพราะเป็นพื้นฐานของหลักกฎหมายของประเทศต่างๆในทวีปยุโรป และยังมีอิทธิพลอย่างมากต่อกฎและข้อบังคับของศาสนาคริสต์

ด้านเศรษฐกิจ  จักรวรรดิโรมันมีนโยบายส่งเสริมการผลิตทางด้านเกษตรกรรม และอุตสากหรรม รวมทั้งการค้ากับดินแดนภายในและภายนอกจักรวรรดิ

ด้านเกษตรกรรม เดิมชาวโรมันในแหลมอิตาลีประกอบเกษตรกรรมเป็นหลัก และพึ่งพิงการผลิตภายในดินแดนของตน ต่อมาเมื่อจักรวรรดิโรมันขยายอำนาจออกไปครอบครองดินแดนอื่นๆ การเพาะปลูกพืชและข้าวในแหลมอิตาลีเริ่มลดลง เนื่องจากรัฐส่งเสริมให้ดินแดนอื่นๆ นอกแหลมอิตาลีปลูกข้าว โดยวิธีการปฏิรูปที่ดิน ดินแดนที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่อยู่ในแคว้นกอล (Gaull) เขตประเทศฝรั่งเศสปัจจุบัน และตอนเหนือของแอฟริกา ส่วนพื้นที่การเกษตรในแหลมอิตาลีส่วนใหญ่เปลี่ยนไปทำไร่องุ่นและเลี้ยงสัตว์

ด้านการค้า การค้าในจักรวรรดิโรมันรุ่งเรืองมาก มีทั้งการค้ากับดินแดนภายในและนอกจักรวรรดิ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การค้าเจริญรุ่งเรือง ได้แก่ ขนาดของดินแดนที่กว้างใหญ่และจำนวนประชากร ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่สามารถรองรับสินค้าต่างๆได้มาก นอกจากนี้การจัดเก็บภาษีการค้าก็อยู่ในอัตราต่ำและยังมีการใช้เงินสกุลเดียวกันทั่วจักรวรรดิ ประกอบกับภายในจักวรรดิโรมันมีระบบคมนาคมขนส่งทางบก คือ ถนนและสะพานที่ติดต่อเชื่อมโยงกับดินแดนต่างๆ ได้สะดวก ทำให้การติดต่อค้าขายสะดวกรวดเร็ว การค้ากับดินแดนนอกจักรวรรดิโรมันที่สำคัญได้แก่ ทวีปเอเชีย โดยเฉพาะการค้ากับอินเดียซึ่งส่งสินค้าประเภทเครื่องเทศ ผ้าฝ้าย และสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ สำหรับชนชั้นสูงเข้ามาจำหน่าย โดยมีกรุงโรมและนครอะเล็กซานเดรียในอียิปต์เป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ

ด้านอุตสาหกรรม ความรุ่งเรืองทางกาค้าของจักรวรรดิโรมันส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง ดินแดนที่มีการประกอบอุตสาหกรรมที่สำคัญได้แก่ แหลมอิตาลี สเปน และแคว้นกอล ซึ่งผลิตสินค้าประเภทเครื่องปั้นดินเผาและสิ่งทอ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมในเขตจักรวรรดิโรมันส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กที่ใช้แรงงานคนเป็นหลัก

ด้านสังคม จักรวรรดิโรมันมีความเจริญด้านสังคมมาก ที่สำคัญได้แก่ ภาษา การศึกษา วรรณกรรม การก่อสร้าง และสถาปัตยกรรม วิทยาการต่างๆ และวิถีดำรงชีวิตของชาวโรมัน

ภาษาละติน ชาวโรมันพัฒนาภาษาละตินจากตัวพยัญชนะในภาษากรีกที่พวกอีทรัสคันนำมาใช้ในแหลมอิตาลี ภาษาละตินมีพยัญชนะ 23 ตัว ใช้กันแพร่หลายในมหาวิทยาลัยของยุโรปสมัยกลาง และเป็นภาษาทางราชการของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมาจนถึงศตวรรษ 1960 นอกจากนี้ภาษาละตินยังเป็นภาษากฎหมายของประเทศในยุโรปตะวันตกนานหลายร้อยปีและเป็นรากของภาษาในยุโรป ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส และโรมาเนีย ภาษาละตินยังถูกนำไปใช้เป็นชื่อทางวิทยาศาสตร์เช่นเดียวกับภาษากรีกด้วย

การศึกษา โรมันส่งเสริมการศึกษาแก่ประชาชนของตนทั่วจักวรรดิในระดับประถมและมัธยม โดยรัฐจัดให้เยาวชนทั้งชายและหญิงที่มีอายุ 7 ปี เข้าศึกษาในโรงเรียนประถมโดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน ส่วนการศึกษาระดับมัธยมเริ่มเมื่ออายุ 13 ปี วิชาที่เยาวชนโรมันต้องศึกษาในระดับพื้นฐาน ได้แก่ ภาษาละติน เลขคณิต และดนตรี ผู้ที่ต้องการศึกษาวิทยาการเฉพาะด้าน ต้องเดินทางไปศึกษาตามเมืองที่เปิดสอนวิชานั้นๆ โดยเฉพาะ เช่น กรุงเอเธนส์สอนวิชาปรัชญา นครอะเล็กซานเดรียสอนวิชาการแพทย์ ส่วนกรุงโรมเปิดสอนวิชากฎหมาย คณิตศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์

ด้านวรรณกรรม โรมันได้รับอิทธิพลด้านวรรณกรรมจากกรีก ประกอบกับได้รับการส่งเสริมจากจักรพรรดิโรมัน จึงมีผลงานด้านวรรณกรรมจำนวนมากทั้งบทกวีและร้อยแก้ว มีการนำวรรณกรรมกรีกมาเขียนเป็นภาษาละตินเพื่อเผยแพร่ในหมู่ชาวโรมัน และยังมีผลงานด้านประวัติศาสตร์ นักประวัติศาสตร์โรมันที่มีชื่อเสียงคือ แทซิอุส (Tacitus) ซึ่งวิพากษ์การใช้ชีวิตฟุ่มเฟือยของชาวโรมัน ส่วนกวีที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของโรมันคือ ซิเซโร (Cicero) ซึ่งมีผลงานจำนวนมากรวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง

การก่อสร้างและสถาปัตยกรรม ผลงานด้านการก่อสร้างเป็นมรดกที่ยิ่งใหญ่ของชาวโรมัน โรมันเรียนรู้พื้นฐานและเทคนิคการก่อสร้าง การวางผังเมืองและระบบระบายน้ำจากกรีกจากนั้นได้พัฒนาระบบก่อสร้างของตนเอง ชาวโรมันได้สร้างผลงานไว้เป็นจำนวนมาก เช่น ถนน สะพาน ท่อส่งน้ำประปา อัฒจันทร์ครึ่งวงกลม สนามกีฬา ฯลฯ อนึ่ง ในสมัยนี้มีการใช้ปูนซีเมนต์เป็นวัสดุก่อสร้างอย่างแพร่หลาย นอกจากผลงานด้านการก่อสร้างแล้ว โรมันยังมีผลงานด้านสถาปัตยกรรมซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นศิลปกรรมที่งดงามจำนวนมาก เช่น พระราชวัง วิหาร โรงละครสร้างเป็นอัฒจันทร์ครึ่งวงกลม ฯลฯ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโรมันจะรับสถาปัตยกรรมกรีกเป็นต้นแบบงานสถาปัตยกรรมของตน แต่ชาวโรมันก็ได้พัฒนารูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตนด้วย เช่น ประตู วงโค้ง และหลังคาแบบโดม
ด้านวิทยาการต่างๆ ชาวโรมันไม่ได้พัฒนาความเจริญก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์มากนัก แต่ได้สร้างคุณูปการสำคัญให้แก่ชาวโลกซึ่งได้แก่การรวบรวมและบันทึกวิทยาการต่างๆ ที่ได้รับมาและตกทอดเป็นมรดกแก่ชาวโลก เช่น ตำราด้านการแพทย์ ดาราศาสตร์ เกษตรศาสตร์ สัตวแพทย์ ฯลฯ อย่างไรก็ตามการแพทย์และสาธารณสุขของโรมันนับว่าก้าวหน้ามาก แพทย์โรมันสามารถผ่าตัดรักษาโรคได้หลายโรค โดยเฉพาะการผ่าตัดทำคลอดทารกจากทางหน้าท้องของมารดา ซึ่งเรียกว่า ศัลยกรรมซีซาร์ (Caesarean Operation) นอกจากนี้ยังมีการสร้างโรงพยาบาลระบบบำบัดน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล

วิถีชีวิตของชาวโรมัน  ความเจริญรุ่งเรืองของจักรวรรดิโรมัน ทำให้ชนชั้นสูงชาวโรมันและผู้มีฐานะมั่งคั่งดำรงชีวิตอย่างฟุ่มเฟือยหรูหรา ทั้งการสร้างคฤหาสน์ที่โอ่อ่า สุขสบาย มีสิ่งบำเรอความสะดวกครบถ้วน ลักษณะเด่นที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตที่หรูหราของชาวโรมันคืออ่างอาบน้ำ ซึ่งมีทั้งที่อยู่ในบ้านและที่อาบน้ำสาธารณะ ในทางตรงข้ามประชาชนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน โดยเฉพาะในกรุงโรมมีคนจนจำนวนมากซึ่งมีชีวิตยากจน ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างและขาดสวัสดิการ ลักษณะเช่นนี้สะท้อนถึงปัญหาสังคมของเมืองใหญ่ที่เจริญก้าวหน้าทางด้านวัตถุ แต่มักประสบปัญหาด้านคุณภาพชีวิตของประชาชน

12956952571295695556l

โคลอสเซียม โรงมหรสขนาดใหญ่ของอาณาจักรโรมันในอดีต

Leave a comment